24ธ.ค.58

วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2558
สังเกตการเรียนการสอนครั้งที่ 6

สิ่งที่ได้เรียนรู้ช่วงเช้า
          สังเกตการสอนของพี่ๆชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 วันนี้ทำจิตศึกษาเรื่องธรรมชาติ ครูเล่าสิ่งที่ได้พบเจอเกี่ยวกับธรรมชาติให้นักเรียนฟัง และนำสิ่งที่พบเจอมาให้นักเรียนดู เช่น กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง ดอกไม้ เป็นต้น นำสิ่งเหล่านี้มาติดบนกระดาษแล้วให้พี่ๆ ป.2 เลือก เพื่อนำไปต่อเติมตามจินตนาการ และตั้งชื่อรูปของตัวเอง ครูให้เวลาในการทำงาน 5 นาที เมื่อครบเวลาที่ครูกำหนด ครูให้นักเรียนโชว์ผลงานของตนเอง ในการทำจิตศึกษาครั้งนี้ครูจะสอนให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติที่อยู่รอบๆตัวของเรา จากนั้นครูและนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนใน Quarter 3 ซึ่งใน Quarter นี้จะเรียนเรื่องของเล่นในภาคต่างๆ โดยครูจะถามจากสิ่งที่อยากรู้ที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่เริ่ม Quarter นักเรียนก็จะช่วยกันตอบ โดยยกมือค้างไว้ แล้วครูจะเชิญนักเรียนตอบคำถามที่ถามไปทีละคน เมื่อนักเรียนตอบมาครูอาจจะขยายความเพิ่มเติมให้ด้วย เพื่อเป็นการทวนความรู้และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จากนั้นครูให้การบ้านนักเรียนคนละ 2 ข้อเกี่ยวกับสิ่งที่อยากรู้ ในชั้นเรียนวันนี้มีนักเรียนที่ดื้อมาก ครูจึงลงโทษด้วยการให้ไปอยู่มุมห้อง หรือถอยหลังออกจากวงกลม นักเรียนก็จะรู้ตัวเองว่าทำอะไรผิดเมื่อผ่านไปซักพัก เมื่อเด็กกลับมาอยู่กับตัวเองได้ ครูก็จะให้โอกาสให้กลับมาอยู่ในวงกลมได้
          จากนั้นเตรียมตัวไปชมการเปิดบ้านของพี่ๆ ป.3 เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบที่หน้าห้อง เมื่อไปถึงก็นั่งอย่างเป็นระเบียบ เพื่อรอชมการเปิดบ้าน วันนี้พี่ๆ ป.3 เปิดบ้านสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับภาคต่างๆของประเทศไทย โดยจะแบ่งการนำเสนอเป็นภาคๆ นำเสนอทีละกลุ่ม เมื่อชมเสร็จก็กลับมาเตรียมซ้อมการนำเสนอของตัวเอง นักเรียนจะนำเสนอให้ช่วงบ่าย เรื่องที่นำเสนอก็จะเป็นเรื่องของเล่น การละเล่น ที่ได้เรียนมาทั้ง Quarter ของเล่นก็จะมีหลากหลาย ทั้งทำจากวัสดุธรรมชาติ ของในท้องถิ่น ของเหลือใช้ ครูให้ซ้อมโดยจับเวลาไปด้วย นักเรียนทุกคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง เมื่อซ้อมเสร็จก็ทำความสะอาด จัดเตรียมสถานที่ นัดแนะกันช่วงไม่ต้องทำ Body Scan แต่ให้นักเรียนเตรียมตัวสำหรับการนำเสนอแทน



สิ่งที่เรียนรู้ช่วงบ่าย
          เรียนรู้การทำ Body Scan ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากนั้นกลับมาประชุมที่ตึกธุรการ ครูพรให้เล่าวิถีการเรียนรู้ของชั้นต่างๆ จากการสังเกตช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอนุบาล ประถม และมัธยม จากที่สังเกตก็จะเห็นถึงสิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่ต่างกันในแต่ระดับชั้น อย่างอนุบาล 1 และอนุบาล 2 กิจกรรมในแต่ละวันจะคล้ายๆกัน แต่สลับเวลา พี่อนุบาล 2 จะไม่นอนกลางวันแต่จะเรียนแทน ชั้นประถมและมัธยมก็จะแตกต่างในเรื่องการเรียนการสอน พี่มัธยมมีวุฒิภาวะสูงขึ้นจึงความรับผิดชอบที่มากกว่า พูดคุยเรื่องทั่วๆไปเกี่ยวกับโรงเรียน ในส่วนของ Blog ต้องทำเพิ่มเติมในแต่วันให้เสร็จ หลังจากที่กลับไปแล้วให้ส่งงานผ่าน Blog คุยงานสัปดาห์ ซึ่งเป็นงานบุญคูณลานให้เข้าร่วมกิจกรรมและช่วยจัดสถานที่ในวัดจันทร์
          เรียนรู้การทำ PLC ของครู ซึงจะต้องมีองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ดังนี้
          Lesson Study เป็นกระบวนการร่วมกันพัฒนากิจกรรมการสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มครู ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ Lesson Study เช่น ทำอย่างไรที่จะให้องค์กรพัฒนาปัญญาภายในให้กับผู้เรียน กิจกรรมฝึกฝนการรู้ตัวมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้างกับเด็กแต่ละวัย การฝึกให้เด็กได้ใคร่ครวญควรมีกิจกรรมใดบ้าง เป็นต้น
          S&L (Share & Learn) แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวจากหน้างานของกันและกัน เน้นการอภิปรายร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเจตจำนงที่ดีต่อการทำให้งานพัฒนาขึ้น หรือเด็กๆได้รับการพัฒนาขึ้น ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ S&L เช่น อะไรคือปัญหาหรือสิ่งที่เราต้องพัฒนา ทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ผลเป็นอย่างไร อะไรที่ยืนยันว่าเราได้พบผลเช่นนั้น เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น
          AAR (After Action Review) เป็นการอภิปรายสรุปในแต่ละแง่มุมหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม เพื่อทำให้เกิดการใคร่ครวญ หรือการทบทวนต่อเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างหัวข้อคำถามเพื่อ AAR เช่น เห็นอะไร รู้สึกหรือคิดอย่างไร อะไรที่เราได้เรียนรู้ เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้รับ

          ได้ทราบรายละเอียดของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น อย่างการที่เรามี Blog ก็ช่วยในเรื่องการส่งงานที่สะดวก ครูท่านอื่นๆก็ได้เห็นงานของเราด้วย เผื่อมีความแนะนำดีๆ เราจะได้นำมาปรับปรุงได้ สะดวกต่อการใช้งานทุกๆอย่าง จากที่สังเกตนักเรียนชั้น ป.2 ครูจะสอนให้นักเรียนมีระเบียบวินัย รู้จักที่จะรอ เคารพในสิ่งต่างๆ ในการตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็น ครูก็ค่อยอธิบายเพิ่มเติมให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง แทนที่จะบอกว่านักเรียนตอบผิด ได้เรียนรู้การทำ PLC ว่าเป็นอย่างไรจุดประสงค์ของการทำคืออะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น